เห็ดตับเต่า “ยายหลอด” กาฬสินธิ์

บทความแห่งการลำรึกถึง “คุณตาและคุณยาย” ที่เคารพรัก

ณ ดินแดนที่ราบสูง หรือที่เรียกว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” บ้านเลขที่ 11 หมู่ 1 บ้านอุ่มเม่า ตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธิ์ เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว มีกระท่อมมุงสังกะสีขนาดประมาณ 6×8 เมตร สร้างอย่างเรียบง่าย มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการตามสำเนียงของคนอีสานว่า “เถียงนา” เป็นที่พักอาศัยสำหรับทำการเกษตรชั่วคราว รองจากบ้านหลังใหญ่โตที่สร้างเอาไว้ภายในหมู่บ้าน ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใด นอกจากตะเกียงเจ้าพายุใบเก่า เครื่องนอนเพียงไม่กี่ชิ้น และเครื่องครัวนิดๆหน่อยๆเท่านั้น ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปาว คือที่พักอาศัยของตา-ยายคู่หนึ่ง (คุณยายจันดี และคุณตาหลุน ภูจุไร) และบรรดาหลานๆอีกสามคน ซึ่งสองข้างฝั่งของลำน้ำปาวจะเต็มไปด้วยหญ้าที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า “หญ้าอ้อยหนู” ที่เกิดอยู่ริมตลิ่ง และที่นี่ถือว่าเป็นศูนย์รวมเห็ดตับเต่าที่เกิดตามธรรมชาติมากมาย เก็บกินกันไม่หวาดไม่ไหว พอย่างเข้าหน้าฝน “ยายหลอด” ก็จะพาลูกหลานหาเก็บเห็ดตับเต่าที่เกิดอยู่ริมตลิ่งมาปรุงอาหาร และเมนูเด็ดที่สุดก็เห็นจะเป็น “แกงเห็ดตับเต่าใส่ยอดมะขามอ่อน”  มีวิธีปรุงง่ายๆตามวิถีชนบทแต่รสชาตินั้น สุดแสนจะอร่อยไม้แพ้เมนูเลิศหรูของคนเมือง ซึ่ง ณ ปัจจุบันคุณยายกับคุณตาทั้งสองก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว คงเหลือแต่ความทรงจำดีๆ คำสอนดีๆ ที่ผมจดจำไว้ไม่เคยลืม เพราะว่าผมเองนี่แหละครับ คือหลานแท้ๆของ “ยายหลอด”  ที่ผมอ้างถึง และสิ่งที่ผมจำได้แม่นคือ ก่อนนำเห็ดมาปรุงอาหารให้หลานๆกิน คุณยายมักจะล้างเห็ดตับเต่าข้างต้นมะนาวริมคันนาและเทน้ำที่ใช้ล้างเห็ดทิ้งไว้แถวๆนั้น ซึ่งจะมีหญ้าแห้วหมูขึ้นอยู่เต็มไปหมด พอสองปีให้หลังกลับพบว่ามีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นบริเวณที่แกล้างเห็ดเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีพืชอาศัยของเห็ดแต่อย่างใด ผมจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า “เห็ดตับเต่า”  ที่จัดว่าเป็นแอคโตมัยคอร์ไรซาที่ต้องอาศัยรากพืชนั้น แท้ที่จริงแล้วสามารถอาศัยอยู่กับรากของหญ้าบางชนิดก็ได้ ซึ่งจากประสบการณ์ของผมตอนสมัยเป็นเด็ก มักจะไปเก็บเห็ดตับเต่าจากข้างตลิ่งลำน้ำปาวที่มีป่าหญ้าอ้อยหนู ขึ้นเต็มไปหมด และจะเก็บจากข้างคันนาที่มีหญ้าแห้วหมูขึ้น (ที่ยายนำเห็ดมาล้าง) แต่ปัจจุบันสถานที่ ที่ผมกล่าวถึงนี้ไม่มีเห็ดตับเต่าให้เก็บอีกแล้ว เหตุผลหลักๆก็น่าจะเป็นอิทธิพลของความเจริญทางด้านวัตถุ บ้านเมืองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเขตชนบทกลายเป็นเขตเทศบาล ถนนคอนกรีตลุกลามเข้าไปเกือบทุกซอกทุกมุมของพื้นที่ ประกอบกับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ระดมปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำปาว ถิ่นที่ผมเคยเก็บเห็ดตับเต่าอย่างต่อเนื่อง ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างไร้จรรยา อีกทั้งสารเคมีที่ใช้ในทางการเกษตรก็มีให้เห็นกันเกลื่อน ซึ่งสารพิษต่างๆที่ว่านี้เป็นตัวทำลายเชื้อราหรือแบคทีเรียต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทำลายเส้นใยเห็ด ทำให้เห็ดที่เกิดในธรรมชาติไม่มีให้พวกเราได้เก็บกินอีกแล้ว เพราะเห็ดที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ถือว่าเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง แต่มันพิเศษอยู่ที่ว่า “เป็นเชื้อราที่กินได้”  นั่นเองครับ
** หญ้าอ้อยหนู เป็นภาษาเรียกชื่อหญ้าชนิดหนึ่งของคนอีสาน (ชุมชนที่ผมอยู่) มีลักษณะเป็นปล้อง ขอบใบมีลักษณะคมและยาว กว้างประมาณ ½ เซนติเมตร มีดอกสีขาว ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร **