เทคนิคเพาะเห็ดตับเต่า นอกฤดูกาล

เทคนิคเพาะเห็ดตับเต่า นอกฤดูกาล

เห็ดตับเต่า
เทคนิคเพาะเห็ดตับเต่า นอกฤดูกาล
เห็ดตับเต่า เป็นเชื้อรากลุ่มเอ็คโตมัยโคไรซ่า เป็นเห็ดที่อาศัยอยู่กับรากพืช คือเห็ดจำพวกนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีพืชเป็นที่อาศัยครับ เส้นใยของเห็ดตับเต่าจะเจริญดีมากจากรากอ่อน จนถึงปลายราก แต่เราจะใส่เชื้อที่โคนรากของต้นไม้อาศัย ในช่วงแรกเชื้อเห็ดตับเต่าจะอาศัยอยู่ที่โคนราก แล้วค่อยๆ ลามไปจนทั่วปลายราก ในขณะเดียวกันเชื้อเห็ดจะใช้เวลาพัฒนาเส้นใยตามรากแก้วและรากฝอยของพืชอาศัยประมาณ 1-3 ปี อันนี้แล้วแต่ความชุ่มชื้น และความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินครับ และเมื่อฝนตกต้นไม้ได้รับความชื้น ก็จะแตกใบอ่อน รากอ่อน อุณหภูมิความชื้นเหมาะสม เส้นใยเห็ดก็รวมตัวเกิดเป็นดอกเห็ดให้เราเห็นและเก็บรับประทานได้ครับ และที่สำคัญ เห็ดตับเต่าจะอาศัยอยู่กับต้นไม้อาศัย ไป
ตลอดอายุของต้นไม้ครับ สรุปง่ายๆ ก็คือตราบใดที่ต้นไม้ยังอยู่ เราก็มีเห็ดกินตลอดชั่วลูกชั่วหลานนั่นเองครับ ส่วนการทำให้เห็ดตับเต่าออกนอกฤดูกาลก็ไม่ยากครับ เราก็อิงจากธรรมชาติ หรือเลียนแบบธรรมชาติไปเลย นั่นก็คือ ตามปกติแล้วเห็ดตับเต่าจะเกิดดอกช่วงหน้าฝนประมาณเดือน พฤษภาคมเป็นต้นไป คือหากมีฝนตกติดต่อกันนาน 2 – 3 วันแล้วหยุด อีกประมาณ 1 หรือ 2 สัปดาห์เห็ดตับเต่าก็จะโผล่ออกมาให้เห็น ด้วยหลักการนี้เราก็เลียนแบบธรรมชาติบังคับให้เห็ดตับเต่าออกนอกฤดูได้ดังนี้ครับ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ การที่เราจะผลิตเห็ดตับเต่านอกฤดู เราก็ต้องมีต้นไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดตับเต่าไว้ระยะหนึ่งก่อนแล้ว สมมุติว่าเราใส่เชื้อเห็ดตับเต่าไว้ที่ต้นมะม่วง หรือต้นลำไย หากหน้าแล้งไม่มีฝนตกเราอยากกินเห็ด ให้เอาเศษหญ้าแห้ง ใบไม้แห้งมาคลุมไว้ที่โคนต้นมะม่วง หรือต้นลำไย จากนั้นให้รดน้ำที่โคนต้นให้ชุ่ม (เปียก) ติดต่อกันประมาณ 2 – 3 วันก็พอ หลังจากนั้นอดใจรออีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะเห็นเห็ดตับเต่าโผล่ออกมาให้รับประทานได้โดยไม่ยากครับ