5 สาเหตุ! ที่หลายคนเพาะเห็ดแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ


      มีหลายท่านหลายคนและหลายสวนเคยบ่นให้ฟังว่า "ลงทุนไปกับหัวเชื้อเห็ดชนิดต่างๆหมดเงินไปหลายพัน เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา ทำอย่างไรเห็ดก็ไม่เกิดในสวนสักกะที!" ซึ่งผมเองก็ได้ลงมือเพาะเห็ดหลายชนิดไว้ในสวน และก็มีเห็ดออกจริง โดยเฉพาะเห็ดปลวกหรือเห็ดโคนป่าด้วยการสร้างรังปลวกจำลอง จากนั้นก็ราดด้วยสปอร์จากดอกเห็ดแก่ หรือแม้กระทั่งเห็ดระโงกและเห็ดตับเต่าก็มีวิธีการเพาะเช่นเดียวกัน อันที่จริงมันก็มิใช่เรื่องยากครับ หากเราเข้าใจหลักการของไมคอร์ไรซ่า (Mycorrhiza) และเข้าใจสภาพปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อราเหล่านี้ และที่สำคัญต้องรู้ในสิ่งที่ควรหลีกเลี่่ยงอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เห็ดไม่เกิด ซึ่งผมก็ได้รวบรวมไว้เป็นกรณีศึกษา มีอยู่ด้วยกัน 5 สาเหตุหลัก! ที่หลายคนเพาะเห็ดแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ครับ

1. รดด้วยน้ำที่มีคลอรีน

2. สภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์ 

3. ใช้เชื้อเห็ดไม่มีคุณภาพ

4. แปลงเพาะเห็ดขาดความชื้นสม่ำเสมอ

5. ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรา



วิธีใส่เชื้อเห็ดตับเต่ากับไม้ผลไม้ยืนต้นก่อนนำไปปลูก


     หนึ่งในแผนเกษตรที่ยั่งยืนของผมคือการปลูกพืชที่เราสามารถเก็บผลผลิตกินได้ ใช้ประโยชน์ของเนื้อไม้ได้ และที่สำคัญใต้โคนต้นของไม้ผลหรือไม้ยืนต้นชนิดนั้นๆก็ต้องมีแหล่งอาหารที่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเราได้ นั่นคือใต้โคนต้นไม้ที่เราปลูกต้องมีเห็ดเกิดขึ้น ที่ทำให้เราสามารถเก็บกินได้ตราบชั่วอายุของต้นไม้นั้น นั่นก็คือการใส่เชื้อเห็ดลงไปในไม้ผลหรือไม้ยืนต้นที่เราจะนำไปปลูกนั่นเอง ที่เห็นในขวดนี้คือเชื้อเห็ดตับเต่าเข้มข้นที่ผมเพิ่งสั่งมาจากแหล่งผลิตเห็ดตับเต่าที่ขึ้นชื่อของจ.อยุธยา และที่เห็นในถุงเพาะชำคือต้นลำไยที่ตอนกิ่งไว้ 1 ปีที่แล้วและต้นพยุงที่เพาะจากเมล็ด มีรากเดินเต็ม ที่ผมเตรียมไว้ทำคลิปให้ชม คือจะทำการใส่เชื้อเห็ดตับเต่าเข้าไปแล้วค่อยนำไปปลูก การใส่เชื้อเห็ดตับเต่าทำได้สองวิธีคือ

วิธีที่ 1 นำเชื้อเห็ดตับเต่ามาละลายน้ำแล้วรดต้นไม้ที่อยู่ในถุงเพาะชำ 


วิธีที่ 2 (เป็นวิธีที่ผมเลือกใช้) คือ นำเชื้อเห็ดตับเต่าเข้มข้นประมาณ 1 แก้ว เทใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นก็เติมน้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีนใช้น้ำฝนหรือน้ำสะอาดจากห้วยหนองคลองบึงก็ได้ จากนั้นนำไม้อาศัย (ที่เห็นคือต้นลำไยที่ตอนกิ่งไว้ 1 ปี มีรากเดินเต็ม) มาจุ่มลงในกะละมังทิ้งไว้ 1 คืน ทั้งหมดนี้แนะนำให้ทำในที่ร่มไม่มีแสงแดดคือจะทำในช่วงเวลาเย็น พอตอนเช้าก็จะนำไปปลูกตามปกติ เพียงเท่านี้เชื้อราเห็ดก็จะอยู่กับรากไม้ตลอดไปเราแค่ดูแลรักษาความชื้นให้ดี ส่วนคำถามที่ว่าแล้วเห็ดตับเต่าจะเกิดตอนไหน? คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้

    อันที่จริงระยะเวลาในการเกิดดอกเห็ดผมบอกไม่ได้และไม่มีใครสามารถการันตีได้ เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนสปอร์ที่เข้าไปเกาะในรากต้นไม้ที่เราใส่เชื้อเข้าไป ความสมบูรณ์ของพื้นที่ความชื้นที่มีอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เส้นใยรวมตัวกันเป็นดอกเห็ดซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1-6 เดือน หรือประมาณ 1 ปี ขึ้นอยู่กับการรักษาความชื้นการดูแล และที่สำคัญบริเวณนั้นต้องปลอดสารเคมีทุกชนิดที่จะไปทำลายเชื้อรานะครับ อีกหนึ่งคำถามที่คิดว่าหลายคนคงอยากรู้เหมือนกัน..แล้วเห็ดตับเต่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 
เห็ดตับเต่า
    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
เห็ดตับเต่า เป็นเชื้อราที่จัดอยู่ในกลุ่มเอคโตไมคอร์ไรซ่า (Ectomycorrhiza, ECM) คือ เป็นเชื้อราที่อาศัยและเจริญเติบโตอยู่กับรากของพืช คือต่างฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต้นไม้ได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการต่อการเจริญเติบโตจากเชื้อราเห็ดตับเต่า และในทางตรงกันข้ามเชื้อราเห็ดตับเต่าก็จะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่จะเข้ามาทำลายรากของพืช และเชื้อราเห็ดตับเต่ายังได้รับสารอาหารจากต้นไม้ที่ปลดปล่อยออกมาทางระบบราก ได้แก่ โปรตีน วิตามิน หรือน้ำตาล เป็นการอยู่ร่วมกันแบบต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนและได้ประโยชน์ร่วมกันนั่นเอง การใส่เชื้อเห็ดเพียงครั้งเดียวเห็ดราชนิดนี้ก็จะอาศัยอยู่กับรากไม้ตลอดอายุของต้นไม้เลยทีเดียว เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม ยาวนานและยั่งยืน นี่คือเหตุและผลของการเกิดเห็ดตับเต่า เราแค่ทำความเข้าใจก็สามารถเพาะได้ทุกคนนะครับ.