ปัจจัยในการเจริญเติบโตของ “เห็ดตับเต่า”

การเกิดของเห็ดตับเต่า

เห็ดตับเต่า

“เห็ดตับเต่า” จัดว่าเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย โดยเฉพาะในท้องถิ่นภาคอีสาน แต่ปัจจุบันเห็ดตับเต่าที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ก็หายากขึ้นทุกที เมื่อก่อนแถวบ้านที่ผมอยู่ (จ.ตาก) พอถึงหน้าฝนแค่เดินลงไปข้างห้วยก็เก็บเห็ดตับเต่าได้เป็นกิโลฯ แต่ปัจจุบันหาจะแกงสักขีดยังไม่มีเลยครับ เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมลองวิเคราะห์ดูอาจเป็นเพราะว่า การทำเกษตรในปัจจุบันเราใช้สารเคมีมากเกินไป เมื่อเกิดฝนตก ก็ทำการชะล้างสารเคมีต่างๆเหล่านี้ลงสู่ห้วย หนองคลอง บึงต่างๆ เชื้อเห็ดทั่วไปไม่เฉพาะแค่เห็ดตับเต่าจัดว่าเป็นเชื้อราที่กินได้ จึงตายไปเพราะพิษของสารเคมีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้หากเราอยากจะรับประทานเห็ดตับเต่า ก็ต้องหาวิธีนำมาเพาะเอง ส่วนวิธีการนั้นก็ไม่ถือว่ายากครับ เพราะวิธีการและขั้นตอนทุกอย่างในการเพาะเห็ดตับเต่า มีอยู่ตรงหน้าท่านแล้ว..วันนี้ผมก็เพิ่งจะสั่งซื้อก้อนเชื้อมา กะว่าจะเพาะไว้กินในครอบครับ แต่ก่อนอื่นขอนำเสนอวิธีการให้ได้รู้ก่อน เผื่อผู้อ่านสนใจอยากเพาะเห็ดตับเต่าไปพร้อมๆกับผม..มีรายละเอียดดังนี้ครับ   
"เห็ดตับเต่า" ที่เกิดใต้ต้นโสน จ.พระนครศรีอยุธยา
“เห็ดตับเต่า” จัดว่าเป็นเชื้อรากลุ่ม “เอ็คโตมัยคอร์ไรซ่า” คือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อรากับระบบรากอาหารของพืชชั้นสูง ซึ่งเชื้อเห็ดจะมีความเฉพาะเจาะจงกับรากฝอย (rootlets) ของพืชได้โดยตรง ไม่สามารถเพาะเลี้ยงให้เป็นดอกเห็ดได้บนอาหารสังเคราะห์ เหมือนกับเห็ดทั่วๆ ไป เช่น เห็ดนางฟ้าที่เราเห็นการเจริญเติบโตได้บนก้อนอาหารเห็ดที่มีจำหน่ายทั่วไป แค่เราซื้อมาวางไว้ในห้องน้ำก็สามารถเก็บเห็ดกินได้แล้ว  แต่เห็ดตับเต่าจะไม่ใช่อย่างนั้นครับ เห็ดตับเต่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาได้ จะต้องมีพืชที่ใช้อาศัยในการเจริญเติบโตหรือที่เรียกว่า “พืชอาศัย” และพืชอาศัยของเห็ดตับเต่าก็จะมีอยู่หลายชนิดให้เราได้เลือกใช้ เช่น ต้นหว้า ต้นโสน ต้นมะกอกน้ำ ต้นส้ม ต้นมะม่วง ต้นขนุน และต้นทองหลาง เป็นต้น เคยมีข้อมูลว่าในจังหวัดเชียงรายที่อำเภอเวียงแก่น ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มโอขนาดใหญ่ กลับพบว่าในบางพื้นที่ของสวนมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นบริเวณใต้ต้นส้มโอจำนวนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2549 -2552 กรมวิชาการเกษตร โดยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ได้เก็บตัวอย่างเห็ดตับเต่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นำมาแยกเชื้อบริสุทธิ์บนอาหารวุ้น PDA  ซึ่งก็ได้ทั้งหมด 47 isolate โดยเก็บจากใต้ต้นมะกอกน้ำ กระท้อน หว้าและส้มโอ เพื่อจะศึกษาลักษณะดอกเห็ดตับเต่าที่พบในสภาพธรรมชาติ รวมถึงการแยกเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดตับเต่าบนอาหารสังเคราะห์และทำการผลิตหัวเชื้อต่อไป นอกจากนั้นยังศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อเห็ดตับเต่ากับรากพืชอาศัยในห้องปฏิบัติการ และยังได้ปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าลงบนพืชอาศัย 1 ชนิด คือ ต้นมะกอกน้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นตัวอย่างหรือ Model ในการศึกษาการสร้าง มัยคอร์ไรซ่า (Mycorrhizae) และการพัฒนาเป็นดอกเห็ดในแปลงปลูกต่อไป ซึ่งจากการศึกษาและทดลองดังกล่าวก็ได้ข้อสรุปว่า

1. เชื้อเห็ดตับเต่าทุก  Isolate สามารถเจริญได้บนอาหารสังเคราะห์
2. เชื้อเห็ดตับเต่าแต่ละ Isolate มีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นใยที่แตกต่างกัน แต่ทุกๆ isolate จะมีการเจริญบนอาหาร MMN ได้ดีกว่าอาหาร PDA ดังนั้นจึงควรใช้ MMN เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อเห็ดตับเต่าแทน
3. เชื้อเห็ดตับเต่ามีการอยู่ร่วมกัน (Colonization) กับรากมะเกี๋ยงป่าได้ดี และเชื้อเห็ดตับเต่าบาง isolate สามารถเจริญเป็นดอกเห็ดได้ในหลอดทดลอง และบาง isolate จะพัฒนาเป็นดอกเห็ดขนาดเล็กบนอาหาร PDA หลังจากการเลี้ยงเชื้อที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 เดือน
4. การปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าให้อยู่ร่วมกับพืชอาศัยทำได้โดยการล้างเส้นใยออกจากหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง (หัวเชื้อ 1 ขวดต่อน้ำ 2 ลิตร)  จากนั้นให้ใช้จอบขุดบริเวณรอบชายพุ่มจนพบรากฝอยของพืชอาศัย แล้วนำเชื้อไปราดบริเวณชายพุ่มก่อนกลบด้วยดิน และยังสามารถกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ดตับเต่านอกฤดูในพืชอาศัยที่เคยพบดอกเห็ดตับเต่าขึ้นตามธรรมชาติได้ด้วย โดยการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์เลียนแบบการตกของฝน และก็จะพบดอกเห็ดตับเต่าขึ้นบริเวณใต้ทรงพุ่มของพืชอาศัยดังกล่าวหลังจากให้น้ำประมาณ 2-3 สัปดาห์ 

จากกาารทดลองในเรื่องเห็ดตับเต่าทีว่านี้ก็ได้เป็นประโยชน์กับส่วนต่างๆมากมายเช่น
-  นักวิชาการเกษตรจัดการฝึกอบรมให้เกษตรกรและผู้สนใจมีความสามารถในการผลิตหัวเชื้อเห็ดตับเต่าเป็นการค้าได้
-  สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าลงบนกล้าพืชอาศัยให้แก่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้  ซึ่งในแต่ละปีจะต้องผลิตกล้าไม้อยู่แล้ว
-  เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีไปผลิตเห็ดตับเต่านอกฤดูกาลเพื่อนำออกจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นได้
-  เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าลงบนพืชอาศัยเพื่อผลิตตับเต่าเป็นอาหารในครัวเรือนหรือจำหน่ายทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งได้

สำหรับก้อนเชื้อเห็ดตับเต่าสามารถสั่งซื้อโดยตรงได้ที่ “ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย” หากเกษตรกรหรือผู้สนใจจะสั่งซื้อหรือมีข้อสงสัยในเรื่องการเพาะ “เห็ดตับเต่า” ก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย โทรศัพท์ 053-170100 หรือ 053-170120 ได้ ในวันและเวลาราชการครับ โดยส่วนตัวผมเองก็สั่งซื้อที่นี่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนั้นราคาก้อนละ 40 บาท ไม่รวมค่าจัดส่งครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย